<div style= Choowap.com จองง่ายๆ จ่ายเบาๆ ที่พักราคาถูก

ถ้ำเขาหลวง

ถ้ำเขาหลวง
ถ้ำเขาหลวง

       ถ้ำเขาหลวง อยู่ในพื้นที่ของอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจังหวัดนี้มีประวัติและความเป็นมานับร้อยปี เคยเป็นเมืองที่จมอยู่ในทะเลในสมัยทวารวดี ในพื้นที่ราบทางตะวันออกของจังหวัด ตั้งแต่อำเภอชะอำ อำเภอท่ายาง อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลม จนถึงอำเภอเขาย้อย จะเป็นทะเลทั้งหมดไปจนถึงตัวเมืองราชบุรี และมีเมืองโบราณสมัยทวารวดี อยู่ในจังหวัดราชบุรีคือ เมืองคูบัว ชุมชนโบราณสมัยทวารวดีที่สำคัญ ได้แก่ เขตชุมชนโบราณหนองปรง เขตอำเภอเมืองเพชรบุรี โบราณสถานทุ่งเศรษฐี ที่บ้านโคกเศรษฐี ตำบลนายาง อำเภอชะอำ ชื่อเมืองเพชรบุรี มาปรากฎหลังชมุชนโบราณพ้นสมัยทวารวดีแล้วคือ สมัยสุโขทัย มาสมัยอยุธยา เพชรบุรีอยู่ในฐานะเมืองหน้าด่าน เมืองอู่ข้าว อู่น้ำ และมีความสำคัญดังกล่าวมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

 

       เขาหลวง  เป็นแหล่งท่องเที่ยวถ้ำของเพชรบุรี ซึ่งมีถ้ำสำคัญที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่ ๔ ถ้ำคือ ถ้ำเขาย้อย ถ้ำเขาบันไดอิฐ ถ้ำเขาเตาหม้อ และถ้ำเขาหลวง ซึ่งถ้ำเขาหลวงนี้นิยมเป็นแหล่งท่องเที่ยวกันมานานนับร้อยปีแล้ว

 

ถ้ำเขาหลวง ตามประวัติเล่าว่า รัชกาลที่ ๔ เสด็จมาพร้อมโอรส ๒ พระองค์ และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ร่วมกันสร้างพระ และทรงบูรณะ เช่น สร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมาบูรณะต่อ แล้วพระราชทานนามว่า วิมานจักรี ปัจจุบันมีพระพุทธรูปในถ้ำรวม ๑๗๐ องค์ มีเจดีย์ในถ้ำ ๖ องค์ ภายในถ้ำแบ่งพื้นที่โดยธรรมชาติเป็น ๓ ห้องคือ

ห้องแรก  มีพระพุทธบาทจำลอง มีหินที่เกิดจากน้ำหยดลงมาเป็นรูปเหมือนเต่า ห้องนี้หินงอก หินย้อยสวยมา และหินย้อยบางก้อนถูกคนลักตัดเอาไป

ห้องที่ ๒  เดินต่อไปจากห้องแรก เดินสะดวกถึงกันหมดทั้ง ๓ ห้อง มีพระพุทธรูปเรียงรายรอบห้อง มีปล่องให้แสงสว่างเข้ามาพื้นถ้ำ นอกจากสวยแล้วยังให้ความสว่าง มีพระพุทธไสยาสน์ หลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ลงมาเที่ยวถ้ำ จะมากราบไหว้บูชา มีธูปเทียนจำหน่ายให้นำไปบูชา มีพระนาคปรก และที่ฐานพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ยังมีตราประจำพระองค์ของรัชกาลที่ ๑ - ๕ จารึกไว้ด้วย

ภายในถ้ำทุกห้องงามด้วยหินงอกหินย้อย และมีอากาศเย็นสบาย ไม่อับชื้น  ถ้ำเขาหลวงมีชาวไทย ชาวต่างประเทศ ลงมาเที่ยวกันนานนับร้อยปีแล้ว มีบันทึกของชาวยุโรปและภาพปรากฏในงานพิมพ์ของอังรี มูโอ นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมายังไทย ลาว กัมพูชา แล้วกลับไปตีพิมพ์ไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๗  ถ้ำเขาหลวงนี้สุนทรภู่ได้เคยมาเที่ยวและเล่าไว้ในนิราศเมืองเพชร

"ดูว้างเวิ้งเชิงพนมน่าชมเชย    ต่างแหงนเงยชมชะง่อนก้อนศิลา
 เป็นลดหลั่นชั้นช่องมีห้องหับ       แลสลับเลื่อมลายคล้ายเลขา
 กลางคีรินหินห้อยย้อยระย้า            ดาษดาดูดูดังพู่พวง"

 

 

       การเดินทางไปเที่ยวเพชรบุรีจะไปทางรถยนต์ หรือทางรถไฟก็สะดวกทั้งสิ้น แต่หากไปทางรถไฟ ซึ่งมีไปวันละหลายขบวน แต่เมื่อไปถึงเมืองเพชรบุรีแล้ว ต้องหารถพรรคพวกมารับไปเที่ยว หรือเที่ยวโดยรถสี่ล้อเล็กที่ชาวเมืองเรียกว่า "รถเล้ง" หรือไปเที่ยวกับรถไฟ ไปเช้า เย็นกลับ ไม่ทราบว่ายังจัดอยู่หรือเปล่า สนใจลองโทรถามดู ๐๒ ๒๒๕ ๖๙๖๔ ต่อ ๕๒๑๗ แต่ผมชอบขับรถไปเองสนุกกว่า เพชรบุรีอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ฯ มีสถานที่เที่ยวในตัวเมืองได้หลายแห่ง ของกิน อร่อย ๆ หากินได้แยะ รวมทั้งของฝากที่จะหิ้วกลับมาด้วย ขนมอร่อยที่ลือชื่อคือ ขนมหม้อแกง หากเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว มีเส้นทางไปได้ ๒ เส้นทางคือ

 

เส้นทางที่ ๑  ไปตามถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ ผ่านไปตั้งแต่บางแค นครปฐม ราชบุรี ปากท่อ เขาย้อย เพชรบุรี เส้นนี้ระยะทางประมาณ ๑๖๖ กม. ไกลพอ ๆ กับไปลพบุรี หากมีเวลาเส้นนี้เหมาะสำหรับเที่ยวกลับ เพราะได้แวะนครปฐม แหล่งของกินใหญ่ยามค่ำคือ ที่บริเวณด้านตะวันตกขององค์พระปฐม มากมายหลายสิบเจ้าเลยทีเดียว

 

เส้นทางที่ ๒  หากมาทางด่วนพระราม ๙ พอลงจากทางด่วนมาสู่ถนนพระราม ๒ แล้ววิ่งไปผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปากท่อ เส้นนี้หากเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ ในวันกลับรถจะติดมากคือ ติดกันตั้งแต่เลี้ยวเข้าสาย ๓๕ (พระราม ๒) ที่บริเวณแยกวังมะนาว รถจะเริ่มติดมาจนยันทางด่วนนั่นแหละ จากปากท่อก็ทับกับเส้นทางที่มาจากราชบุรีคือ ถนนเพชรเกษมเส้นนี้ประมาณ ๑๒๑ กม. ใกล้กว่ามาก แต่ทำเวลาไม่ค่อยได้ ถ้าเป็นวันหยุด ยิ่งหยุดยาวก็ติดยาวดีนัก

 

จะไปเส้นทางที่ ๑ หรือที่ ๒ หากออกเช้ากะไปกินข้าวเช้าตามทาง ก็ขอแนะนำว่าไปกินข้าวแกงที่เขาย้อยดีที่สุด อร่อยสุด ๆ เช่นกัน ก่อนถึงทางแยกไปสถานีรถไฟเขาย้อย จะมีร้านข้าวแกงร้านใหญ่ ๆ อยู่หลายร้าน ร้านที่ผมชิมเขาประจำ และชิมมานานเลยสิบปี จนเขาขยายร้านใหญ่โต ขาไปจะอยู่ทางขวามือ ต้องไปกลับรถมาจากสี่แยก มีอาหารคงจะถึงร้อยอย่าง

 

เมื่อวิ่งมาถึงเขตเพชรบุรี ก่อนเข้าเมืองจะพบทางเลี้ยงเมืองทางขวา หากจะไปชะอำ หัวหิน ก็แยกขวาไปได้เลย แต่ถ้าจะเข้าเมืองก็ตรงไปจะชนกับสามเแยกศาลหลักเมือง ถ้าเลี้ยวขวาก็จะไปยังเขาวัง แต่หากขึ้นเขาวังทางนี้ต้องเดินขึ้นเขาไป แต่ถ้าจะขึ้นโดยรถรางไฟฟ้า หรือเคเบิลคาร์ถึงทางเลี่ยงเมืองให้เลี้ยวขวาไปนิดเดียว จะเห็นสถานีรถไฟฟ้าอยู่ทางซ้ายมือ ขึ้นรถไฟฟ้าไม่ต้องเดินขึ้นบันไดไปสู่เขาวัง

 

ตรงสามแยกศาลหลักเมือง ที่เลี้ยวขวามาเขาวัง หากเลี้ยวซ้ายไปตามถนน ๓๑๗๓ อีกประมาณ ๓ กม. เศษ ๆ คือ ทางลงถ้ำเขาหลวง ซึ่งเดี๋ยวนี้สะดวกมาก ถนนคอนกรีตอย่างดี เมื่อไปถึงลานจอดรถ ทางซ้ายมีทางลงสู่ถ้ำจันทน์ เป็นสำนักสงฆ์วิปัสสนา ทางขวามีที่ขายอาหารลิง เพราะลิงแยะ และมีห้องสุขาที่สะอาด แต่ไม่สากล เก็บค่าบริการคนละ ๒ บาท สุดทางของถนนก่อนลงถ้ำคือ ศาลาที่จำลองแบบมาจาก "ศาลาสวนหลวง ร.๙"

 

ทางซ้ายของศาลาสวนหลวง ร.๙ มีบันไดคอนกรีตเดินไปสู่ปากน้ำ พอถึงปากถ้ำต้องเดินลงบันไดที่ค่อนข้างชัน เดินลงไปอีก ๙๙ ขั้น ซึ่งผมต้องใช้ความอดทน ความมานะพยายามอย่างสูง ในการเดินลงไป ขาลงไม่กลัว ขาขึ้นไม่แน่ใจว่าจะไต่ขึ้นมาไหวหรือไม่ และน่าจะเป็นการลงไปถ้ำเขาหลวงเป็นครั้งสุดท้ายของผม ที่จะไปแล้วลงไปในถ้ำ สมัยก่อนเคยไปมาตั้งแต่สี่สิบปีที่แล้ว เป็นการไปครั้งแรก ซึ่งครั้งนั้นจะต้องเดินไปจากจุดที่เรียกว่า ลานจอดรถ ยังไม่มีลาน ไม่มีบันไดเดินไปปากถ้ำ ต้องเดินไต่เขาไป พอถึงปากถ้ำต้องลงไปในถ้ำ ด้วยบันไดไม้ไผ่หวาดเสียวดีพิลึก แต่ตอนนั้นกับตอนนี้ผิดกัน เพราะร่างกายมันไม่ยอมไต่บันได ก็ยังดีที่ลงไปตามบันได ๙๙ ขั้น และไต่กลับขึ้นมาได้โดยไม่ต้องอาศัยโคร ค่อย ๆ ขึ้นมาอย่ารีบร้อนมันก็ขึ้นได้เอง

 

http://youtu.be/LiEJEjwTw-c